ความเป็นมา

            พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พ.ศ. 2533 ได้กำหนดให้สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคมเป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจให้ครบทั้ง 5 ประการ คือ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การปรับแปลงถ่ายทอดและพัฒนาเทคโนโลยี การบริการวิชาการแก่สังคม และการทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม ได้ปฏิบัติครบทั้ง 5 ภารกิจมาตั้งแต่ พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นปีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีเริ่มเปิดดำเนินการ

            คำว่า “เทคโนโลยีสังคมหรือวิทยาศาสตร์สังคม” หมายถึง วิทยาการสมัยใหม่ที่ประยุกต์วิธีการทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประสมประสานใช้ประโยชน์ ดังนั้น วิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ น่าจะเรียกได้ว่า เทคโนโลยีสังคม เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาพื้นฐานทางสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งตรงกับแนวคิดในการตั้งสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคมของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

            สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม เป็นชื่อที่มีความแตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่น โดยมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไป ได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์ หรือ คณะสังคมศาสตร์ เป็นต้น ตามความหมายของพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน คำว่า “เทคโนโลยี” หมายถึง “วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติได้ ประยุกต์ได้” ดังนั้น “เทคโนโลยีสังคม” จึงเป็นศาสตร์ทางสังคมยุคใหม่ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์เพราะว่าใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ แต่นำมาประยุกต์ใช้ในด้านสังคม ซึ่งหมายความว่า “วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางสังคมศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์สังคมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ” หรือเรียกว่า “สังคมศาสตร์ประยุกต์”

            ปัจจุบันสำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม เปิดสอนระดับปริญญาตรี ระดับปริญญาโท และระดับปริญญาเอก
หลักสูตรที่เปิดสอนได้แก่
1. หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
2. หลักสูตรการจัดการบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมบริการ
3. หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต
4. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาอังกฤษศึกษา)
5. หลักสูตรสหกิจศึกษามหาบัณฑิต
6. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต(สหกิจศึกษา)
7. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การจัดการ)
8. หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ภาษาอังกฤษศึกษา)