ที่มาและความสำคัญ

ปัจจุบันอาชีพทางด้านสื่อสารมวลชน อาทิ ผู้สื่อข่าววิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ นักเขียน ผู้ผลิตรายการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ฯลฯ เป็นสาขาวิชาชีพที่ได้รับความสนใจ เป็นที่นิยมอย่างสูงของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยหลักสูตรนิเทศศาสตร์เป็นหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอน ในวิชาชีพดังกล่าว และมีผู้สนใจเลือกเข้าศึกษาต่อเป็นอันดับต้นๆ มาเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน นักเรียนจำนวนไม่น้อยเลือกตามความสนใจของตน และมีจำนวนไม่น้อยเช่นกันเลือกตามสมัยนิยมรวมถึงไม่ทราบความต้องการหรือความสามารถที่แท้จริงของตนเอง ถึงแม้ว่าสายงานด้านนิเทศศาสตร์ วิชาชีพผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุ เป็นวิชาชีพที่นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เยาวชนส่วนหนึ่งยังขาดความเข้าใจที่แท้จริงต่อคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพ ขาดความเข้าใจในการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องเหมาะสม ขาดความมั่นใจในความสามารถและความเหมาะสมของตนเอง ทั้งนี้ เยาวชนไทยควรปรับตัว โดยการปรับทัศนคติที่จะต้องตระหนักถึงความเป็นชาติและการดำรงคงอยู่ของรัฐไทยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันควรมีการปรับกระบวนทัศน์การเรียนรู้ โดยการเรียนรู้ในยุคใหม่ควรเป็นไปอย่างมีเป้าหมาย อย่างคนรู้เท่าทันสถานการณ์ ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนไทยที่สนใจงานด้านนิเทศศาสตร์ได้เตรียมความพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ คือ การได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาไทยในงานสื่อสารมวลชน และการสื่อสารเนื้อหาที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสม รวมทั้งได้ทราบศักยภาพและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง คือ การให้นักเรียน นักศึกษาได้แสดงออกโดยมีการประเมินผลและให้คำแนะนำทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพัฒนาศักยภาพดังกล่าว สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม จึงเห็นควรจัดให้มีการประกวด “โครงการเส้นทางสู่ดวงดาว : ผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุฯ ดิจิทัล ปีที่ 17” ขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีแก่เยาวชนผู้ที่สนใจได้รับความรู้ที่ถูกต้อง และมีโอกาสแสดงความสามารถ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อและเลือกวิชาชีพในอนาคต


วัตถุประสงค์

1) เพื่อให้เยาวชนได้แสดงความสามารถในการใช้ภาษาไทยในการปฏิบัติงานผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุฯ

2) เพื่อให้ความรู้แก่เยาวชนเกี่ยวกับวิชาชีพสื่อมวลชนในแขนงผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุฯ

3) เพื่อให้เยาวชนได้ฝึกทักษะในการใช้ภาษาไทยในการปฏิบัติงานผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุฯ


ผู้เข้าร่วมกิจกรรม

1) นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าทั้งชายและหญิง และเป็นผู้ที่มีความสนใจในงานด้านการเป็นผู้ประกาศและนักจัดรายการวิทยุฯ

2) นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษาทั้งชายและหญิง และเป็นผู้ที่มีความสนใจในงานด้านการเป็นผู้ประกาศและนักจัดรายการวิทยุฯ

3) สถาบันการศึกษาแต่ละแห่ง สามารถส่งนักเรียน/นักศึกษาเข้าประกวดได้ประเภทละไม่เกิน 6 คน (ผู้เข้าประกวดหนึ่งคนสามารถประกวดได้มากกว่า 1 ประเภท)

4) ผู้ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดในโครงการเส้นทางสู่ดวงดาวฯ ประเภทใดประเภทหนึ่งมาแล้ว ไม่อนุญาตให้เข้าประกวดในประเภทเดิม ผู้เข้าประกวดจะสามารถประกวดในประเภทเดิมได้ในกรณีที่เปลี่ยนระดับการประกวดจากระดับมัธยมศึกษาเป็นระดับอุดมศึกษาแล้วเท่านั้น

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หนึ่งหทัย ขอผลกลาง อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล)
  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สถิตย์โชค โพธิ์สอาด อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ
  • อาจารย์ ดร.สรชัย กมลลิ้มสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล)
  • อาจารย์ ดร.ธวัชพงษ์ พิทักษ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล)
  • อาจารย์นรินทร ฉิมสุนทร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล)
  • นายคณิต วัฒนวงศ์ดอน เจ้าหน้าที่ประจำห้องปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน
  • คณะนักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ (นิเทศศาสตร์ดิจิทัล) ชั้นปีที่ 2 และ 3

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1) เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้รับความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยในวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะในแขนงผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุ เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นสื่อมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2) เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาไทยในงานผู้ประกาศข่าวโทรทัศน์และนักจัดรายการวิทยุ

3) เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการฯ มีความมั่นใจในการแสดงออกในทางสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น

หน้าแรก | เกี่ยวกับโครงการ | การสมัครเข้าประกวด | หลักเกณฑ์การตัดสิน | รางวัลการประกวด | กิจกรรมในโครงการ | ผลการประกวดที่ผ่านมา | รางวัลเกียรติยศ