ประวัติจังหวัดนครราชสีมา

สมัยกรุงธนบุรี

หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลาย เจ้าเมืองพิมายและกรมหมื่นเทพพิพิธได้ตั้งตัวเป็นชุมนุมอิสระที่สำคัญชุมนุมหนึ่งแต่ถูกปราบลงโดยพระเจ้าตาก หลังจากนั้นเมืองนครราชสีมาได้เป็นฐานกำลังทางทหารและการปกครองที่สำคัญของไทยมาโดยตลอด โดยในสมัยกรุงธนบุรีได้ถูกใช้เป็นฐานรวบรวมกำลังของ พระยาอภัยรณฤทธิ์ และ พระยาอนุชิตราชา ในการสงครามกับล้านช้างและกัมพูชา ในคราวสงครามตีเมืองเวียงจันทน์และได้พระแก้วมรกต หลวงยกกระบัตรเมืองพิมายอยู่ในทัพหน้า มีความดีความชอบจึงได้รับการแต่งตั้งเป็น พระยานครราชสีมา และ เจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ในที่สุด ต่อมาพระยากำแหงสงคราม (บุญคง) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองนครราชสีมา ในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้าตาก เมื่อเกิดการกบฏพระยาสรรค์ขึ้น พระสุริยอภัย กรรมการเมืองนครราชสีมา ได้นำกำลังทหารชาวนครราชสีมากลับเข้าควบคุมสถานการณ์ในกรุงธนบุรีไว้ได้ก่อนที่ เจ้าพระยาจักรี และ เจ้าพระยาสุรสีห์ จะยกทัพกลับมาจากกัมพูชาและเกิดการเปลี่ยนแผ่นดิน ในครั้งนั้น พระยากำแหงสงคราม (บุญคง) เจ้าเมืองนครราชสีมา ที่นำทัพไปกัมพูชาพร้อมกับ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ ถูกประหารชีวิตไปพร้อมกับเชื้อพระวงศ์ และขุนนางเดิมของพระเจ้าตาก จำนวนหนึ่ง และได้มีการเปลี่ยนตัวเจ้าเมืองนครราชสีมาเป็นพระยานครราชสีมา (เที่ยง) ผู้ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น)


สมัยรัตนโกสินทร์

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 1 เมืองนครราชสีมามีฐานะเป็นเมืองชั้นเอก กำกับตรวจตราเมืองประเทศราช ๓ เมือง คือ เวียงจันทน์ นครพนม จำปาศักดิ์ ให้รวมทั้งปกครองหัวเมืองเขมร พระยานครราชสีมา (เที่ยง) เป็นผู้สำเร็จราชการ และในรัชสมัยรัชกาลที่ 1นี้ ชาวเมืองนครราชสีมาได้น้อมเกล้าถวายช้างเผือก 2 เชือก

ในสมัยรัชกาลที่ 2 เกิดกบฏ อ้ายสาเกียดโง้ง ที่จำปาศักดิ์ มีรับสั่งให้พระยานครราชสีมา (เที่ยง) นำกองทัพไปปราบ แต่ เจ้าอนุวงศ์ เจ้าประเทศราชเวียงจันทน์ส่งเจ้าราชวงศ์ไปปราบกบฏได้เสร็จสิ้นก่อน และเจ้าราชวงศ์ได้ครองเมืองจำปาศักดิ์ต่อมา ต่อมาทองอิน เชื้อสายของพระเจ้าตาก และบุตรบุญธรรมของเจ้าพระยานครราชสีมา (ปิ่น) ได้เป็นผู้สำเร็จราชการต่อจากพระยานครราชสีมา (เที่ยง)

ในสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ ฉวยโอกาสที่เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) นำกองทหารไปราชการต่างเมือง ยกทัพลาวมายึดครองเมืองนครราชสีมา และส่งกองทหารไปกวาดต้อนครอบครัวลาวถึงเขตเมืองสระบุรีก่อนที่จะถอยทัพเมื่อกองทัพสยามจากพระนครเริ่มรวมพลได้ทัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2369 ก่อนกองทัพลาวจะถอยทัพออกจากเมืองนครราชสีมา ไปยังทางเหนือเพื่อสมทบกับกองทัพของเจ้าสุทธิสาร โดยก่อนไป ได้ถอนเสาหลักเมืองออกเพื่อให้เป็นเมืองร้าง และเจ้าอนุวงศ์ได้สั่งการให้ทหารกองหลังรื้อกำแพงเมืองออก เผาประตูเมือง และสถานที่สำคัญๆในเมืองให้หมดสิ้น ให้ตัดต้นไม้ที่ให้ผลให้เหลือแต่ตอ ด้วยที่จะได้กลับมายึดเมืองนครราชสีมาได้สะดวกในภายหลัง ทำให้ต้นไม้ผลถูกตัดหมดสิ้น กำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออกถูกรื้อออกหมด กำแพงเมืองทางทิศใต้ถูกรื้อมาถึงด้านหลังวัดสระแก้ว ส่วนกำแพงเมืองจากมุมทิศอิสานและกำแพงเมืองทางทิศเหนือถูกรื้อ กำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกถูกรื้อออก 1 ส่วนเหลือ 2 ส่วน ประตูเมืองถูกเผาบางส่วน 3 ประตูคือ ประตูเมืองทางทิศตะวันเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันออก ชาวเมืองนครราชสีมาผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่ได้ถูกกวาดต้อน ได้รับข่าวว่ากองทัพจากพระนครที่ส่งกำลังมาช่วยเหลือ กำลังจะเดินทัพมามาถึงทุ่งโพธิ์เตี้ยห่างจากเมืองนครราชสีมา 10 กม. ในอีกไม่นาน ทำให้กำลังทหารลาวกองหลังของเจ้าอนุวงศ์ที่กำลังทำรื้อกำแพง และเผาทำลายเมืองนครราชสีมาอยู่นั้น เกิดความหวาดกลัวและถอยทัพออกไป ทำให้เมืองนครราชสีมาถูกเผาทำลายลงไปเพียงบางส่วน ส่วนชาวเมืองนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น ได้รวมตัวกันต่อต้านกองทัพลาวของเจ้าอนุวงศ์ โดยมีพระยาปลัดนครราชสีมา พระยายกกระบัตร และ พระณรงค์สงคราม (มี) เป็นผู้นำในการรบ ณ ทุ่งสัมฤทธิ และผู้นำในการสนับสนุนช่วยเหลือการรบ คือ คุณหญิงโม ภริยาปลัดเมืองนครราชสีมา ต่อมากองทัพชาวนครราชสีมาได้ร่วมกับกองทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรฯ ในการรบครั้งต่อๆมาจนกระทั่งเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในที่สุด ภายหลัง คุณหญิงโมได้รับการแต่งตั้งเป็นท้าวสุรนารี และ พระณรงค์สงครามได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาณรงค์สงคราม

ในการสงครามเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นทัพหน้าของกองทัพที่นำโดยเจ้าพระยาบดินทรเดชานำพลชาวนครราชสีมาทำการรบอย่างกล้าหาญในสงครามกับเวียดนาม และสามารถรุกไปถึงเขตแดนเมืองไซ่ง่อน ก่อนที่จะต้องถอยทัพเนื่องจากกองทัพไทยพ่ายแพ้ในแนวรบด้านอื่น ต่อมาพระยาณรงค์สงคราม ได้เป็นนายทัพสำคัญในกองทัพของเจ้าพระยาบดินทรเดชา จนสิ้นสุดสงคราม

เมื่อว่างเว้นจากสงคราม เมืองโคราชได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่กลายเป็นชุมทาง การค้าที่สำคัญ ในการติดต่อระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคกลาง มีกองเกวียน กองคาราวานการค้า ขนาดใหญ่ผ่าน และ หยุดพักอยู่เสมอ

ในสมัยรัชกาลที่ 4 บาทหลวงปาลเลกัวซ์ ได้เขียนว่า ตัวเมืองโคราชล้อมรอบด้วยกำแพงตั้งอยู่บนที่ราบสูง เดินทางจากบางกอกใช้เวลา 6 วันโดยไต่ระดับสูงขึ้นไปตามเส้นทาง ดงพญาไฟ ประชากรโคราชมีประมาณ 60,000 คน ครึ่งหนึ่งเป็นคนสยาม อีกครึ่งหนึ่งเป็นคนเขมร ในตัวเมืองมีประชากร 7,000 คน มีคนจีนประมาณ 700 คน มีเหมืองแร่ทองแดง มีโรงหีบอ้อย สินค้า คือ ข้าว งาช้าง หนังสัตว์ เขาสัตว์ ไม้เต็ง อบเชย

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระยานครราชสีมา (เมฆ) บุตรของ เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) ได้เป็นแม่ทัพบกไปปราบจีนฮ่อที่เมืองหนองคาย ต่อมาเมื่อมีการจัดตั้งมณฑลนครราชสีมาเพื่อควบคุมดูแลหัวเมืองในบริเวณใกล้เคียง เป็นมณฑลแรกของประเทศ มีพระยานครราชสีมา (กาจ สิงหเสนี) บุตรเขยของพระยานครราชสีมา (เมฆ) เป็นผู้ว่าราชการคนแรก มีการจัดตั้งกองทหารประจำมณฑลตามหลักสากล มีการตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่นครราชสีมา มีการสร้างทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านอยุธยา สระบุรี ดงพญาไฟ ไปสู่นครราชสีมา จนเปิดการเดินรถไฟหลวง สายกรุงเทพ - นครราชสีมา ได้สำเร็จ การคมนาคมติดต่อสะดวกขึ้นเป็นอย่างมาก ในช่วงเดียวกันฝรั่งเศสได้เข้ามามีอำนาจเหนือคาบสมุทรอินโดจีน ทำให้สยามจำต้องเร่งการปรับปรุงพัฒนาราชอาณาจักรโดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดตั้งการขนส่งปรษณียภัณฑ์ทางอากาศ และ สายการบินระหว่าง กรุงเทพ - นครราชสีมา มีการขยายเส้นทางรถไฟสายอีสาน จนสามารถขยายเส้นทางการเดินรถไฟจาก นครราชสีมา ถึง ขอนแก่น และ นครราชสีมา ถึง อุบลราชธานี ในสมัยรัชกาลที่ 7

 

ยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระองค์เจ้าบวรเดช ได้รวบรวมกองกำลังทหารจากมณฑลนครราชสีมาเป็นหลัก ร่วมกับ พันเอกพระยาศรีสิทธิ์สงคราม เพื่อทำการต่อสู้กับคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง คณะผู้ก่อการได้ยกกองกำลังเข้ามาล้อมกรุงเทพฯ แต่เมื่อการต่อสู้ยืดเยื้อในที่สุดก็ต้องถอยทัพและประสบความพ่ายแพ้เนื่องจากมีกำลังที่น้อยกว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ พันโทหลวงพิบูลสงครามผู้บัญชาการกองกำลังผสมฝ่ายรัฐบาล มีอำนาจในการควบคุมกำลังทหารมากขึ้นส่งผลให้ได้อำนาจทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลทหารได้ในเวลาต่อมา

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทหารในสังกัด มณฑลทหารบกที่ 3 นครราชสีมา ได้ทำการร่วมรบในกรณีพิพาทอินโดจีน กองทัพไทยสามารถยึดดินแดนกลับคืนมาบางส่วน เป็นการชั่วคราว หลังสงครามยุติสหรัฐอเมริกาได้ให้ความช่วยเหลือสร้างถนนมิตรภาพ จาก สระบุรี ถึง นครราชสีมา ซึ่งเป็นทางหลวงที่ได้มาตรฐานดีที่สุดของประเทศในขณะนั้น

ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐอเมริกาได้ขอใช้นครราชสีมาเป็นฐานบัญชาการการรบและเป็นต้นกำเนิดของกองบิน 1 ฐานทัพหลักของกองทัพอากาศไทยในปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2523 มีความพยายามรัฐประหารโดยกลุ่มทหารของ พลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา แต่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์นายกรัฐมนตรี ได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่นครราชสีมา กองกำลังทหารจากกองทัพภาคที่ 2 นำโดยพลตรี อาทิตย์ กำลังเอกได้เป็นกองกำลังหลักในการปราบกบฏลงได้ในที่สุด หลังจากนั้น อดีตผู้บัญชาการกองทัพภาคที่ 2 หลายท่านได้ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในเวลาต่อมา

เนื่องจากความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ปัจจุบัน นครราชสีมา จึงได้กลายเป็นเมืองศูนย์ราชการที่สำคัญที่สุดรองจากกรุงเทพมหานคร เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การเงิน การศึกษา การสาธารณสุข การวิจัย การคมนาคม และ การอุตสาหกรรม ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งเป็นที่ตั้งของกองฐานกำลังรบหลักของกองทัพบก และกองทัพอากาศในปัจจุบัน เปรียบได้ว่าเป็นเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในปี พ.ศ. 2553 ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากฝนช่วงปลายฤดูตกหนักในบริเวณต้นแม่น้ำมูล นับเป็นอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปี

 

ที่มา http://th.wikipedia.org/wiki

 

 
รายการวิทยุ "ผู้ว่ามาแล้ว"

จำนวนผู้ออนไลน์
We have 1 guest online
สถิติผู้เยี่ยมชม
อากาศวันนี้
DigiWatch
ข่าวที่ 872/2554   จังหวัดนครราชสีมาขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธา ร่วมแสดงพลังน้ำใจบริจาคเงิน/สิ่งของช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ประสบอุทกภัย
ข่าวที่ 865 /2554   จังหวัดนครราชสีมา ประชุมเครือข่ายวิทยุชุมชนเฝ้าระวังอุทกภัย ปี ๕๔ เพื่อความเข้าใจในการดำเนินงานแนวทางเดียวกัน
ข่าวที่ 872/2554   จังหวัดนครราชสีมา ประชุมเครือข่ายวิทยุชุมชนเฝ้าระวังอุทกภัย ปี ๕๔ เพื่อความเข้าใจในการดำเนินงานแนวทางเดียวกัน